24 hrs. art project

กลุ่มศิลปินในนาม 24 hrs. art project

ศิลปิน : วรรณพล แสนคำ, ชัยวัช เวียนสันเทียะ , เอกลักษณ์ สระแก้ว ,พีรนันท์ จันทมาศ , กัมปนาท สังข์สร , สิทธินนท์ พงศ์รักธรรม, ชัยรัตน์ มงคลนัฏ , รัตนา สาลี , ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท ,จินตนาการ มณีรัตน์

ร่วมประสานงาน นิกันติ์ วะสีนนท์ ( ภัณฑารักษ์ / ผู้ประสานงานโครงการ )

พื้นที่แสดงงาน ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ระยะเวลาแสดงงาน : 21 ต.ค. ถึง 13 พ.ย. 2553

เปิดงานนิทรรศการ : 13 พ.ย.2553 เวลา 16:00น วิทยากรรับเชิญ อ.อรรฆย์ ฟองสมุทร


24 hrs. art project

24 hrs. art project

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

24 Hours: 24 Days exhibition ... Text. วณต.

 24 Hours: 24 Days exhibition โดย กลุ่มศิลปิน 24 hrs. art project
ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. - 13 พ.ย. 2553 ณ ห้องกระจก ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 
Talk Room


เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่หอศิลป์คุณคาดหวังจะพบกับอะไร? งานนิทรรศการ หรือผลงานศิลปะที่เตรียมพร้อมรอท่าให้คุณได้เข้าไปเสพศิลป์?  แล้วถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเล่า จะเกิดอะไรขึ้นหากเมื่อคุณเดินเข้าไปเจอกับห้องแสดงงานที่ว่างเปล่า ห้องที่มีเพียงเศษวัสดุกองโต (จนแทบจะเรียกได้เต็มปากว่ากองขยะ?) หรือห้องที่มีไฟติด ๆ ดับ ๆ  ชวนให้เวียนสายตา คุณจะเดินเข้าไปเพื่อชมงานต่อ หรือถอยกลับเพราะคิดว่ามีอะไรผิดปกติ แต่ไม่ว่าคุณจะเดินหน้าหรือหดเท้าถอยหลัง หากเกิดคำถามขึ้นในใจแม้เพียงคำถามเดียว ก็คงต้องขอกล่าวต้อนรับเข้าสู่ “24 Hours: 24 Days exhibition” นิทรรศการศิลปะที่รื้อถอนและเปิดประเด็นคำถามในนิยามของหอศิลป์ และวัฒนธรรมการดูงานศิลปะของสังคมไทย
ในนามของ 24 hrs. art project หลายคนอาจคุ้นชื่อคุ้นหูกันมาบ้าง เพราะนี้ไม่ใช่การแสดงงานศิลปะครั้งแรกของพวกเขา กลุ่มศิลปิน 24 hrs. ได้ดำเนินปฏิบัติการศิลปะต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 ในครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาศิลปะ สถานภาพที่ทำให้พวกเขาประสบปัญหาเรื่องพื้นที่ในการแสดงงาน ทั้งการไม่มีอำนาจต่อรองการขาดสิทธิ์หรือเงื่อนไขบางประการในการขอใช้พื้นที่ของหอศิลป์และแกลอรี่ กลุ่ม 24 hrs. กับโจทย์เรื่องของพื้นที่ (พื้นที่ทางเลือก) จึงเริ่มขึ้นในบัดนั้น
เท้าความไปในปีดังกล่าว นักศึกษาศิลปะจากรั้วศิลปากร จำนวน 15 คน (จำนวนสมาชิก 24 hrs.  ในยุคแรกเริ่ม) ใช้บ้านร้างเลขที่ 33 บนถนนซอยสุขุมวิท23 ซึ่งกำลังจะถูกรื้อถอนมาสร้างงานศิลปะ และเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ โดยปฏิบัติการศิลปะครั้งนั้นมีอายุเพียง  24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มงานจนสิ้นสุดลงเมื่อบ้านถูกทุบทิ้ง อีกสองปีจากนั้น 24 hrs. กลับมาอีกครั้ง ในฐานะกลุ่มศิลปินผู้เข้าร่วมโครงการแบรนด์ นิว 2009ซึ่งได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ควบคุมระบบ ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ บริหารจัดการนิทรรศการหมุนเวียนในหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งจะเปลี่ยนทุก 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 6 อาทิตย์ จนมาในปี 2553 นี้ 24 hrs. art project ได้รับเชิญจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วม ‘BACC Experimental Project’ (1) ซึ่งเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์งานศิลปะ ภายใต้เงื่อนไขการใช้พื้นที่และวัสดุที่มีอยู่แล้วของหอศิลปฯ โดยกลุ่มศิลปินได้ผันบทบาทตัวเองอีกครั้ง ในครั้งนี้พวกเขาทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบกระแสความเป็นไปต่างๆของวงการศิลปะ  (โดยเฉพาะกับบริบทของหอศิลป์และความรู้ ความเข้าใจที่สาธารณชนมองเข้ามา) ในฐานะของศิลปิน ซึ่งเป็นแนวคิดที่พวกเขายืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ต้องการชี้ถูกหรือผิด หากแต่ต้องการให้เป็นการเปิดประเด็นทางศิลปะไปยังคนดูโดยใช้พื้นที่และบริบทของหอศิลป์ในการศึกษา วิจารณ์และทำความเข้าใจช่องว่างทางศิลปะในประเด็นต่างๆ
แม้ที่ผ่านมาผลงานของ 24 hrs. art project มักตั้งอยู่กับเรื่องของพื้นที่และระยะเวลา 24 ชั่วโมง อันเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม แต่ปฏิบัติการศิลปะครั้งใหม่นี้ 24 hrs. ไม่ได้จำกัดตัวเองด้วยช่วงเวลา 24 ชั่วโมงอีกต่อไป คำว่า 24 hrs. จึงลดบทบาทเป็นเพียงชื่อกลุ่ม พวกเขาขยายกรอบของเลข 24 จากชั่วโมง ไปเป็นวัน รวมถึงความยืดหยุ่นของสมาชิกในกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในครั้งนี้จะประกอบด้วย 10 ศิลปิน กับการปฏิบัติการศิลปะภายใน 24 วัน
 "..............."

" 24 Hours: 24 Days exhibition” ทักทายผู้ชมด้วยไฟที่ติด ๆ ดับ ๆ และห้องแสดงงานทั้ง 9 ห้อง ที่ไม่มีผลงานซึ่งสำเร็จเสร็จสมบูรณ์รอเพียงคนดูมาชื่นชมผลงานอย่างที่ควรจะเป็น หากแต่เป็นการแหวกขนบการแสดงงานออกด้วยไฟที่ไม่ได้รับการเซ็ทให้เรียบร้อย กับงานศิลปะที่ยังไม่เป็นศิลปะ กลายเป็นการปฏิบัติงานศิลปะที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวในวันแรก ก่อนที่ผลงานจะสมบูรณ์ในวันสุดท้าย เป็นการนำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่งทางศิลปะที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงาน (Process Art) ผู้ชมจึงได้เห็นการพัฒนาการของชิ้นงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน โดยศิลปินจะตีโจทย์ พร้อมกับทำงานตามทรรศนะและความถนัดของแต่ละคน



ชัยรัตน์ มงคลนัฏ  " Texture" ขนาดผันแปรตามพื้นที่ เทคนิค ปั้นสด

เริ่มจากพื้นที่ด้านในสุด ห้องสีขาวโพลนโล่งราวกับล้อเล่นกับผู้ชมให้มองหางานศิลปะ ก่อนที่สายตาผู้ชมจะสะดุดเข้ากับพื้นผนังที่มีลักษณะนูน ปูดออกมาเป็นผิวขรุขระ -- “Texture” ผลงานของ ชัยรัตน์ มงคลนัฏ ที่เป็นการสแกนหรือขยายข้อบกพร่องของพื้นผิวกำแพงในหอศิลป์ออกมาให้เห็น ซึ่งศิลปินมองว่าหลังจากมีการแสดงงานแต่ละครั้ง ผนังของห้องแสดงงานมักจะถูกทาสีทับ หรือทำการโป๊วผนังซ้ำไปซ้ำมาเพื่อปกปิดร่องรอย จนก่อให้เกิดพื้นผิวที่ไม่เรียบเนียน และส่งผลเสียต่อการแสดงงานศิลปะชิ้นใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผนังหรือข้อบกพร่องนั้นก็สามารถมองเห็นเป็นความงาม โดยชิ้นงานนี้จะงอกขึ้นวันละนิดละหน่อย จนขยายตัวเต็มพื้นที่
 เอกลักษณ์  สระแก้ว " ห้อง-ห้อง " ขนาดผันแปรไม่แน่นอน เทคนิค กระดาษชั้น พลาสติก หลอดไฟ

ชัยวัช เวียนสันเทียะ "playper" ขนาดผันแปรไม่แน่นอน เทคนิค เล่นกับกระดาษบันทึก

 “ห้อง-ห้อง” โดย เอกลักษณ์  สระแก้ว จัดวางอยู่กลางห้องฝั่งตรงข้าม ศิลปินทำการซ้อนทับพื้นที่ด้วยการสร้าง ห้องจำลองที่เหมือนห้องแสดงงานนี้ทุกประการ แต่เป็นการย่อส่วนให้เล็กลง ซึ่งในห้องดังกล่าวนี้ ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมกับตัวงานได้โดยการสอดศีรษะเข้าไปภายในห้อง (หรือกล่อง) และแปรสภาพตนเองจากผู้ชมให้กลายเป็นงานประติมากรรมมีชีวิตขนาดยักษ์ ภายในห้องแสดงนี้ ยังมีผลงาน "playper" ผลงานศิลปะที่เล่นอยู่กับกระดาษของ ชัยวัช เวียนสันเทียะ ชื่องานที่มีนัยยะล้ออยู่กับคำว่า paper (กระดาษ) ศิลปินกำลังตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับพื้นที่หอศิลป์ ด้วยการบันทึกข้อความต่าง ๆ ลงบนกระดาษ และนำไปติดกับผนัง อาทิ 5 วีธีที่จะแสดงงานในหอศิลป์ หรือ หนึ่งในหลายวิธีการดูงานศิลปะ เป็นต้น ซึ่งข้อความเหล่านั้น ก็จะไม่จบลงแค่ที่ศิลปินตั้ง หากแต่จะเกิดการต่อยอดทั้งคำถามและคำตอบจากผู้ชมด้วย
รัตนา  สาลี  " Structure No.1 " ขนาดผันแปรตามพื้นที่ เทคนิค วัสดุผสม

 ในขณะที่ห้องอีกมุมหนึ่ง ปรากฏให้เห็นถึงการประกอบกันของวัสดุต่าง ๆ อาทิ โปสเตอร์งานศิลปะที่เคยจัดแสดงในหอศิลปฯ สายไฟที่ระโยงระยาง หรือเศษกระดาษ บนผนังถูกติดไว้ด้วยภาพถ่ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานของสองศิลปิน รัตนา สาลี และ สิทธินนท์ พงศ์รักธรรม ชิ้นแรกคือ “Structure No.1” ผลงานโดยรัตนา ซึ่งเธอใช้วัสดุของหอศิลปฯ ที่ไม่ใช้แล้วอันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการทำงาน ให้กลายเป็นวัสดุผสมเพื่อนำเสนอถึงลักษณะของโครงสร้าง และฟังก์ชั่นการทำงานที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากสิ่งของเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำงานมาแขวนโชว์ คล้ายกับเป็นหอศิลป์เคลื่อนที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และลักษณะการใช้สอยได้ ผลงานอีกชิ้นคือ “บรรยากาศในพื้นที่จริง” โดย สิทธินนท์ เขาใช้เทคนิคการภาพถ่ายที่ถนัดและสนใจ ถ่ายทอดบรรยากาศของห้องแสดงนี้ ผ่านอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวของศิลปินที่มีต่อพื้นที่มานำเสนอ และปล่อยให้ผู้ชมเกิดคำถามต่อชิ้นงานด้วยตนเอง
พีรนันท์ จันทมาศ " space " ขนาดผันแปรตามพื้นที่ เทคนิค ภาพถ่าย

พีรนันท์ จันทมาศ คืออีกหนึ่งศิลปินที่ใช้ภาพถ่ายในการส่งสารไปยังผู้ชม ด้วยแนวคิดที่ต้องการเสนอพื้นที่ทางศิลปะอื่น ๆ มาเชื่อมโยงและแสดงร่วมกับหอศิลปฯ แห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศิลปะที่สำคัญของ กทม. ผ่าน “space” ผลงานภาพถ่ายงานนิทรรศการศิลปะจากหอศิลป์ หรือแกลเลอรี่ต่าง ๆ ที่จัดแสดงงานอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งนอกจากการทับซ้อนของพื้นที่ทางศิลปะดังกล่าวแล้ว  อาจยังเป็นการตั้งคำถามกับคนดูไปในตัวด้วยว่า นอกจากหอศิลป์กรุงเทพฯ แห่งนี้แล้ว คุณรู้จักที่อื่นอีกหรือไม่?

 จินตนาการ  มณีรัตน์ " 4 x6 " ขนาด 4 x6 นิ้ว เทคนิค สีน้ำบนผนังหอศิลป์


 วรรณพล  แสนคำ " space non space " ขนาดผันแปรตามพื้นที่ เทคนิค เจาะสว่านด้วยมือเปล่าทำมุม90องศากับกำแพง  แท่นอะคลีลิค พุก ตะปูเกลียว ปากกาเคมี ปลั๊กไฟ ลายเซ็นศิลปิน วันที่ที่ทำงาน

ห้องถัดมาคือพื้นที่ของสองศิลปินหนุ่ม จินตนาการ มณีรัตน์ และ วรรณพล แสนคำ โดยจินตนาการ นำเสนอผลงานจิตรกรรมแบบโฟโต้ เรียลลิสม์  (PHOTO REALISM) ที่เขาชำนาญ โดยนำมาปรับใช้ในหอศิลป์ด้วยการใช้ผนังขาวสะอาดภายในห้องแทนเฟรมผ้าใบ และเล่นกับขนาดของพื้นที่ที่จำกัด ชดเชยพื้นที่นั้นด้วยการลดขนาดภาพให้เล็กเท่ากับภาพถ่ายขนาด 4 x6 นิ้ว เพื่อสร้างความรู้สึกว่าห้องกว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็นำเสนอความคิดในเรื่องคุณค่าของงานศิลปะที่ถูกกำหนดให้ด้วยบริบทของหอศิลป์ คล้ายกับเป็นการตั้งคำถามว่า เมื่อหมดเวลาการจัดแสดง ผนังซึ่งมีงานศิลปะนี้ก็ต้องถูกลบทิ้ง แล้วคุณค่าของงานจะสูญสลายไปด้วยหรือไม่ สอดคล้องกับ “space non space” ผลงานโดย วรรณพล ที่ตั้งคำถามกับบริบทของหอศิลป์เช่นเดียวกัน หากแต่วรรณพลไม่ได้นำเสนองานในลักษณะของ Art Object แต่เปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นงานศิลปะแทน ด้วยการใช้สว่านเจาะรูบนผนังของห้องแสดง โชว์ร่องรอยของการเจาะนั้น ด้วยเศษผงของปูนที่หลุดร่วงลงบนแผ่นอะครีลิคใสที่รองรับอยู่ด้านล่าง

 ศุภวัฒน์  วัฒนภิโกวิท "  Art Object " ขนาดไม่แน่นอน ผันแปรตามพื้นที่ เทคนิค กรอบเทปผ้า ป้ายcaption

เช่นเดียวกับการตั้งประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่และความเป็น Art Object ของ ศุภวัฒน์  วัฒนภิโกวิท ที่ว่าหากศิลปินยืนยันว่าสิ่งนี้คือศิลปะ คนดูจะเห็นด้วยไหม? เพราะในเมื่อมันก็อยู่ในบริบทของหอศิลป์ องค์ประกอบและธรรมเนียมในทางศิลปะก็มีครบ ทั้งศิลปิน ตัวผลงาน พื้นที่ แคปชั่น และคนดู แนวคิดซึ่งมีรากฐานสำคัญมาจาก Marcel Duchamp(2) ที่ศุภวัฒน์ตั้งขึ้นมานี้ ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบ หรือคาดหวังให้คนดูบอกว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่เป็นการเปิดประเด็น แล้วทิ้งพื้นที่ว่างให้ผู้ชมได้ตอบโต้กับงานนั้นว่าเมื่อคุณดูแล้วคุณรู้สึกอย่างไร ศิลปินเล่นกับพื้นที่ด้วยการใช้กลวิธีการเข้าไปจัดการ หรือแทรกเข้าไปในพื้นที่แล้ววิจารณ์ (Intervention) ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นงานศิลปะ โดยการครอป (crop) ให้คนดูเห็น ไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ ปลั๊กไฟ เครื่องเป่ามือ ฯลฯ (ซึ่งแน่นอนว่าศิลปินมองเห็นว่ามันงามและเป็นศิลปะ) มาทำเป็นงานศิลป์ โดยที่ไม่ลืมแคปชั่นตามขนบ อันเป็นเครื่องหมายกำกับว่าสิ่งนี้คืองานศิลปะ

กัมปนาท สังข์สร  " จอง " ขนาด........... เทคนิค เคลื่อนย้ายจุดแดง

การเล่นอยู่กับขนบงานศิลปะยังปรากฏให้เห็นใน “จอง” โดย กัมปนาท สังข์สร สติ๊กเกอร์สีแดง สัญลักษณ์จับจองงานศิลป์ถูกแปะติดทั่วงาน ราวกับมีนักสะสมจากทั่วสารทิศมาแย่งชิงกันซื้อผลงานในนิทรรศการนี้ ศิลปินกำลังตั้งคำถามกับคุณค่างานศิลปะ ที่จุดหมายปลายทางมักถูกวัดด้วยราคา และการซื้องาน รวมไปถึงวัฒนธรรมการซื้องานศิลปะ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการชื่นชมงานศิลป์ แต่มันกลายเป็นการบ่งบอกรสนิยม และฐานะ ซึ่งจะถูกจำกัดไว้เฉพาะคนบางกลุ่ม ศิลปินจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับสิทธินั้น สามารถจับจองทุกอย่างในหอศิลปฯ ได้ตามแต่ต้องการ
แม้สิ่งที่ “24 Hours: 24 Days exhibition” พยายามจะนำเสนอนั้นไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในวงการศิลปะ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นมาหลายยุคหลายสมัย แต่มันกลับใหม่สำหรับคนดูโดยเฉพาะในสังคมไทย ยิ่งมาชี้วัดกันในหอศิลปฯแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางตั้งอยู่กลางใจเมือง กอปรกับระยะเวลาของปฏิบัติการศิลปะนี้เป็นช่วงปิดเทอมที่เหล่านักเรียนนักศึกษาเข้ามาในหอศิลปฯจำนวนมาก แม้ปฏิกิริยาจากผู้ชมจะดีเกินคาด คือ ผู้ชมเข้ามามีส่วนรวมอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ชิ้น แต่การเปิดโอกาสอย่างไร้กรอบ ไม่มีข้อความใดที่ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ชมต้องทำอย่างไร ทำให้ปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้ชมจึงไร้ขอบเขต และสะท้อนสิ่งที่ผู้ชมเป็นและคิดอย่างตรงไปตรงมา อย่างงาน “จอง” สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ชมส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจถึงระบบในวงการศิลปะ ซึ่งชี้ชัดว่ามันถูกจำกัดอยู่ในวงแคบอย่างแท้จริง สติ๊กเกอร์หลายชิ้น ถูกนำมาวางเรียงต่อเป็นรูปต่าง ๆ รวมถึงชื่อคน  เช่นเดียวกับ ห้อง Talk ที่เครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ เปิดโอกาสและพื้นที่ให้ผู้ชมได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับศิลปะ แต่ที่ปรากฏอยู่บนพื้นกำแพงหาใช่แค่เพียงคำถามด้านศิลปะเท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่ในการระบาย การบอกรัก การประกาศศักดาจากเหล่าผู้ชม กองเศษวัสดุที่อาจตั้งคำถามกับเราว่านี้คืองานศิลปะหรือไม่ (หรือแม้งานศิลปะทุกชิ้น ที่ไม่ใช่แค่ภายในงานนี้เท่านั้น) กลับกลายเป็นพรอพสำหรับถ่ายรูปของหนุ่มสาว เห็นได้ชัดว่าช่องว่างระหว่างคนดูกับงานศิลปะหรือกับตัวศิลปินเอง ยังคงมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะแคบลงได้อย่างง่ายดาย
“24 Hours: 24 Days exhibition” จึงไม่ใช่เพียงแค่การวิพากษ์หรือตรวจสอบหอศิลป์ดังคำชี้แจงแนวคิดของนิทรรศการ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของผู้ชมได้อย่างเด่นชัด เราไม่อาจมองแค่เพียงว่าสิ่งที่ผู้ชมขีดเขียนเหล่านั้น มันไร้สาระ หรือไม่เข้าใจงานศิลปะ แล้วเพียรมองหาผู้ชมคนใหม่ที่มีความเข้าใจ การคาดหวังให้คนดูค่อย ๆ ละเลียดและซึมซับงานศิลปะ โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือความรู้อาจจะต้องได้รับการทบทวนดูใหม่ หรืออาจต้องรอให้วัฒนธรรมหรือยุคสมัยแห่งการถ่ายรูปหมดไปเสียก่อน (เหมือนอย่างที่อาจารย์ อรรฆ ฟองสมุทรกล่าวไว้ในพิธีปิดนิทรรศการ) แต่อย่างน้อยที่สุด “24 Hours: 24 Days exhibition” ก็ทำให้ผู้เขียน (ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชม) เกิดคำถามต่อยอดมากมายเกี่ยวกับหอศิลปฯและวัฒนธรรมการดูงานศิลป์ของวัยรุ่นยุคนี้ และได้แต่หวังว่างานศิลปะกับการท้าทายใหม่ ๆ จากศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นอีก พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั้งศิลปิน ศิลปะ และตัวผู้ชม (ที่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปอีก


......................................................
(1) BACC Experimental Project เป็นโครงการเชิงทดลองของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่เปิดรับโครงการจากภัณฑารักษ์และศิลปินในการนำเสนอผลงานในรูปแบบนิทรรศการขนาดเล็กบนพื้นที่ของหอศิลปฯ
(2) Marcel Duchamp  นักศิลปะชาวฝรั่งเศส/อเมริกัน ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้จุดประกายที่ยิ่งใหญ่ให้กับศิลปะของยุคศตวรรษที่ 20

......................................................................... 

ขอขอบคุณ : ที่มาของบทความ Fine Art magazine Volume 7 No.74
Exhibition Review Text and photo: วณต.
The art news magazine of Thailand

Text. วณต.

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

NEWS : 24 Hrs. art project








********* หมายเหตุ ********* 

*** ข่าวที่ลงหนังสือพิมพ์ มติชน ณ วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 มีความคลาดเคลื่อนเรื่องแนวคิดไปจากประเด็นที่ทางกลุ่ม 24 Hrs. ต้องการจะนำเสนอและมีการระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ผิด ซึ่งทั้งนี้ ทางหนังสือพิมพ์ มติชน ก็ได้แสดงความรับผิดชอบโดยลง ถ้อยแถลง จาก กฤษฎา ดุษฏีวานิช ซึ่งเป็นบุลคลที่ถูกพาดพิงถึง ในถ้อยแถลงการมีเนื้อความที่อธิบายถึงที่มา-แนวคิดและทิศทางของกลุ่มที่ต้องการจะสื่อ-สาร ในการแสดงงานทั้งก่อนหน้าที่ผ่านมาจนถึงครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการทำความเข้าใจอันดีแก่กันทุกภาคส่วน  ถ้อยแถลงดังกล่าว ตีพิมพ์เผยแพร่ ณ วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ***

13 : 11 : 53 เปิดการเสวนา-เสร็จสิ้นปฏิบัติการ