24 hrs. art project

กลุ่มศิลปินในนาม 24 hrs. art project

ศิลปิน : วรรณพล แสนคำ, ชัยวัช เวียนสันเทียะ , เอกลักษณ์ สระแก้ว ,พีรนันท์ จันทมาศ , กัมปนาท สังข์สร , สิทธินนท์ พงศ์รักธรรม, ชัยรัตน์ มงคลนัฏ , รัตนา สาลี , ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท ,จินตนาการ มณีรัตน์

ร่วมประสานงาน นิกันติ์ วะสีนนท์ ( ภัณฑารักษ์ / ผู้ประสานงานโครงการ )

พื้นที่แสดงงาน ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ระยะเวลาแสดงงาน : 21 ต.ค. ถึง 13 พ.ย. 2553

เปิดงานนิทรรศการ : 13 พ.ย.2553 เวลา 16:00น วิทยากรรับเชิญ อ.อรรฆย์ ฟองสมุทร


24 hrs. art project

24 hrs. art project

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ถ้อยเเถลงจาก กฤษฎา ดุษฎีวนิช(24 hrs. Art Project) จากกรณีบทความในมติชน(รายวัน)‏

สิ่งนี้มิใช้เป็นคำแก้ต่างให้แก่ตนเองหรือกลุ่มก้อนที่รวมตัวกันแสดงงานศิลปะ แต่หากเป็นถ้อยแถลงเพื่อสร้างความเข้าในอันดีระหว่างบุคคลที่อยู่ในวงการศิลปะร่วมสมัย หรือบุคคลที่อยู่ในโครงสร้างของศิลปะ หรือองค์กรต่างๆทางศิลปะ และตัวพื้นที่ต่างๆทางศิลปะที่มีอยู่ในประเทศไทย

เนื่องด้วยข้าพเจ้า ได้ไปอ่านบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ มติชน(รายวัน) ในวันที่  3 พฤศจิกายน 2553 ในหน้าที่ 24 ในชื่อหัวข้อว่า ปฏิบัติการศิลปะ 24 ชั่วโมง วิพากษ์หอศิลป์ในหอศิลป์ ซึ่งเนื้อหาใจความในบทความนี้เป็นการกล่าวถึงนิทรรศการศิลปะของกลุ่ม 24 hrs. Art Project ที่แสดงอยู่ ณ. หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ที่มีประเด็นในการวิพากษ์/วิจารณ์หอศิลป์  ซึ่งในบทความดังกล่าวนั้นเป็นการสัมภาษณ์กันระหว่างนักเขียนของหนังสือพิมพ์มติชน กับเหล่าศิลปินที่แสดงงานอยู่ในพื้นที่หอศิลป์

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าเขียนถ้อยแถลงนี้ขึ้นมาเพราะ ในเนื้อหาของบทความมีสิ่งที่บิดเบือนความจริงอยู่ 2 ประการคือ
1. ในบทความนั้นมีการกล่าวกรอบความคิดของ 24 hrs. Art Project ที่มีความบิดเบือนจากความจริงอยู่มาก โดยในบทความนั้นมีการมุ่งประเด็นไปที่ กลุ่ม24 hrs. Art Project ได้มีการและทำการปฏิเสธระบบหรือโครงสร้างของหอศิลป์ โดยการนำผลงานเก่าที่มีการแสดงในบ้านร้างเมื่อ 4 ปีที่แล้วมากล่าวซ้ำและใส่ข้อมูลที่บิดเบือนไปจากประเด็นที่แท้จริงกล่าวคือ ในการแสดงผลงานของกลุ่ม 24 hrs. Art Project ในครั้งนั้น มิได้มีประเด็นที่ต้องการจะปฏิเสธระบบของหอศิลป์ ถึงแม้เราจะมีการนำผลงานศิลปะออกมาสู่สังคม แต่ในการนำออกมาครั้งนั้นเป็นการทดลองและหาความเป็นไปได้ใหม่ให้แก่การแสดงออกของผลงานศิลปะของกลุ่มเรา
ซึ่งเจตนามิได้เป็นการปฏิเสธระบบของหอศิลป์หรือระบบต่างๆ แต่การกระทำดังกล่าวอาจได้ชุดความคิดที่แตกยอดไปว่า การแสดงงานศิลปะนั้นมิจำเป็นที่จะต้องอยู่เพียงแค่ภายในห้องสีเหลี่ยมสีขาวเท่านั้น พื้นที่ต่างๆของสังคมล้วนแล้วแต่สามารถนำมาเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะได้ทั้งสิ้น  ซึ่งประเด็นเรื่องพื้นที่ทางสังคมนี้เป็นประเด็นหลักในการทำงานศิลปะที่ตอบสนองกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งเท่ากับว่าการที่เราออกมาอยู่ข้างนอกหอศิลป์เราเองมิได้ปฏิเสธหอศิลป์ แต่เราต้องการบริบทแวดล้อมที่มีเนื้อหา/ใจความมากกว่าหอศิลป์

ซึ่งสวนทางกับเนื้อหาใจความหลักของบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชน ที่มุ่งประเด็นไปที่กลุ่ม 24 hrs. Art Project มีความต้องการที่จะปฏิเสธ
ระบบหอศิลป์ ด้วยการใช้คำกล่าวอ้างที่เกิดจริงไปอย่างมาก เช่น
...เมื่อราว 4 ปีก่อน นักศึกษาศิลปะหัวก้าวหน้าจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มหนึ่ง มีความรู้สึกต่อต้านหอศิลป์ 
และระบบของหอศิลป์ ซึ่งพวกเขาเห็นว่า ที่จริงแล้วมันเป็นการตลาดและไม่ได้มีที่ว่างสำหรับศิลปินเหมือนที่ใครต่อใครคิด...

ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 24 hrs. Art Project มิได้มีก้อนความคิดที่เกินตัวเองอย่างที่ปรากฏมาในบทความ  และเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงมีข้อสงสัยว่าผู้เขียนบทความนี้(ไม่ปรากฏชื่อ)ได้ไปนำความคิดที่บิดเบือนอย่างนี้มาจากไหน

และประการที่ 2 ที่สำคัญยิ่งต่อมาคือผู้เขียนบทความนี้ยังกล่าวอ้างชื่อของตัวข้าพเจ้าลงไปในบทความราวกับว่า ผู้เขียนนั้นมานั่งสัมภาษณ์ต่อหน้ากับตัวข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเป็นคนพูดถ้อยคำที่ก้าวร้าวนั้นออกมาจากปาก เเต่ในความเป็นจริงผู้เขียนบทความดังกล่าวนี้มิได้มีการพูดคุยกับข้าพเจ้าเกี่ยวกับนิทรรศการนี้เเต่อย่างใด ซึ่งบทความนี้เป็นบทความที่ต้องการจะนำเสนอนิทรรศการศิลปะ ครั้งใหม่ของ 24 hrs. Art Project ที่มีการแสดง ณ. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และในนิทรรศการครั้งนี้ข้าพเจ้ามิได้เข้าไปดำเนินการหรือยุ่งเกี่ยวใดๆในการเเสดงงานศิลปะครั้งนี้  ทั้งเรื่องกรอบความคิดและกระบวนการในการสร้างสรรค์ มีเพียงแต่กลุ่มศิลปินที่มีความต้องการจะแสดงงานศิลปะในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น

ทั้งนี้ในเมื่อข้าพเจ้าเองก็มิได้มีส่วนในการแสดงงานศิลปะในครั้งนี้แล้ว การมีชื่อปรากฏอยู่ในบทความโดยใช้ชื่อข้าพเจ้านี้ เป็นการกระทำที่มีความต้องการที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างข้าพเจ้ากับโครงสร้างของหอศิลป์ โดยที่ข้าพเจ้ามิได้มีความต้องการใดๆที่จะให้เป็นเช่นนั้น สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าทำในงานศิลปะและในโครงสร้างของศิลปะคือต้องการจะให้มันมีความสมบูรณ์โดยที่ไม่ต้องการทำลายสิ่งใดๆและบอกล่าวว่ามันไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถ้อยคำที่ปรากฏในบทความดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้านั้นรับมิได้กับการกระทำเช่นนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อมีบทความนี้ออกมาปรากฏต่อสาธารณชนแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนซึ่งเกิดจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่  และจะทำให้ความจริงที่เป็นอยู่สูญสลายหรือไม่

ทั้งนี้ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมิได้เป็นการกล่าวเพื่อเป็นคำแก้ต่างหรือแก้ตัวเพื่อรักษาหน้า/ภาพพจน์ของตนหรือของกลุ่มตนแต่ประการใด  แต่หากเป็นการกระทำเพื่อที่จะได้มาซึ่งการรักษาความจริงหรือสัจจะที่แท้จริงของความคิดที่พวกเราได้ร่วมมือกันคิดและทำมันให้ออกมาเป็นจริง  ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงกลุ่มศิลปินกลุ่มเล็กๆในวงการศิลปะเท่านั้น แต่การรักษาความจริงก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับคนทำงานศิลปะ เพราะศิลปะเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนถึงเสรีภาพออกมาให้เป็นรูปธรรมที่ไม่มากก็น้อย

เหตุนี้เองถ้อยแถลงนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่ออาจจะสร้างความเข้าใจที่ดีและให้ตรงกันในทุกภาคส่วน และถามหาความรับผิดชอบจากผู้เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ดังกล่าวว่า คุณมีจุดประสงค์ใดที่แสดงถ้อยคำที่เกิดจริงไปอย่างมากและมีการกล่าวชื่อข้าพเจ้าอย่างไม่สมควรยิ่งและถ้อยแถลงนี้เองข้าพเจ้าจะทำการส่งต่อให้บุคคลในวงการศิลปะได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยทั่วถึงกัน


 ด้วยความเคารพ

   นาย กฤษฎา  ดุษฎีวนิช
 4 พฤศจิกายน 2553
00 : 20